วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

       เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงพระคุณูปการของสมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงปรารถนาใคร่จะสร้างสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อันยั่งยืนอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระราชชนนีเคียงคู่กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราชอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงอุทิศที่ดินตรงบริเวณมุมถนนสนามม้าตัดกับถนนพระราม 4 จังหวัดพระนครซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีจำนวนเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา พร้อมกับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีกจำนวน 258,000 บาท มอบให้สภากาชาดไทยนำไปใช้อำนวยการสร้างอาคารใหญ่ขึ้นหลังหนึ่งบนที่ดินดังกล่าว เพื่อใช้เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของ สถานปาสเตอร์ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ต่างได้ทรงบริจาคและบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลได้เงินอีกจำนวนหนึ่ง เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องตกแต่งอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ อาคารนี้เป็นอาคารทรงยุโรปที่ได้ดัดแปลงสำหรับเมืองร้อน เป็นอาคารที่งดงามและมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และเป็นอาคารอนุรักษ์ โดยมติของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
       สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี องค์สภานายิกาสภากาชาดไทยได้ทรงบริจาคเงินเพื่อสร้างตึกขึ้นหลังหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตึกใหญ่ขนานนามว่า “ตึกสภานายิกา” (1) เพื่อให้ใช้เป็นที่ทำพันธุ์หนองฝีและเลี้ยงสัตว์ สภากาชาดไทยเองจึงได้ลงทุนสร้างตึกอีกหลังหนึ่ง (2) เป็นตึกบริวารในลักษณะเดียวกันทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อให้ดูสง่างาม โดยหวังว่าจะมีผู้เลื่อมใสศรัทธามาบริจาคเงินทุนส่วนนี้คืนให้ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถานที่แห่งใหม่นี้ว่า “สถานเสาวภา” และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2465 กิจการทั้งหมดของกองวิทยาศาสตร์ที่สถานปาสเตอร์ ถนนบำรุงเมือง จึงได้ย้ายมาดำเนินการอย่างถาวร ณ สถาบันใหม่นี้

(1) ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วย “ตึกสภานายิกา” หลังใหม่ซึ่งใช้เป็นอาคารผลิตเซรุ่มและห้องปฏิบัติการอื่น ๆ
(2) ตึกราชูทิศ ปัจจุบันใช้เป็นอาคารผลิตน้ำยาฉีด
       สถานเสาวภาได้ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2465 มีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต สถานเสาวภามุ่งมั่นที่จะสนองพระปณิธาน “ เพื่อปิตุภูมิ เพื่อวิทยา เพื่อมนุษย์ชาติ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงสถาปนาสถาบันนี้ ด้วยการผลิต การวิจัยและการบริการที่มีคุณภาพ แม้ประวัติของสถานเสาวภาจะเริ่มด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ภารกิจของสถาบันครอบคลุมการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ อย่างกว้างขวาง มิได้เจาะจงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแต่อย่างเดียว มีการค้นคว้าในเรื่องสัตว์พิษและพืชพิษร่วมด้วย
       ภารกิจของสถานเสาวภาในปัจจุบันมีการบริการและให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องพิษสุนัขบ้า งูพิษ และพิษงูโดยเน้นความพอใจและประโยชน์ของประชาชนและนักท่องเที่ยว มีการผลิตชีววัตถุและน้ำยาฉีด การผลิตในปัจจุบันเน้นหนักด้านคุณภาพมาตรฐานสากลตามหลักเกณฑ์ GMP (Good manufacturing practice) มีกระบวนการผลิตที่เข้มงวด มีการพัฒนาบุคลากร สถานที่ ด้านการประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ สถานเสาวภาได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 จาก ilac MRA DMSc ส่วนด้านการวิจัยเป็นการวิจัยเพื่อการผลิตและการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ แต่ก็ให้ความสำคัญต่อการวิจัยระดับพื้นฐาน และการวิจัยทางคลินิก สถานเสาวภาได้รับการยอมรับโดยองค์การอนามัยโลกให้เป็น WHO Collaborating Center for Research on Rabies Pathogenesis and Prevention และWHO Collaborating Center for Venomous Snake Toxicology and Research
วิสัยทัศน์
       เพื่อการผลิตชีววัตถุที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) และตามมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
ภารกิจหลัก
       1. ผลิต แบ่งบรรจุวัคซีน เซรุ่ม ชีววัตถุอื่นๆ และน้ำยาปราศจากเชื้อ
       2. วิจัยและตรวจบริการทางวิทยาศาสตร์
       3. บริการเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ให้คำแนะนำในเรื่องสัตว์มีพิษกัดและโรคเมืองร้อน รวมทั้งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน
ยุทธศาสตร์ของสภากาชาดไทยที่ตอบสนองต่อภารกิจหลักของสถานเสาวภา
       ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพการผลิตชีววัตถุให้เป็นผู้นำด้านการแพทย์ที่เน้นคุณค่าชีวิตมนุษย์
       ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ผลงานเป็นที่เชื่อถือของนานาชาติ
       ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริการเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ให้คำแนะนำเรื่อง งูพิษ พิษงู สัตว์มีพิษกัด และโรคเมืองร้อน รวมทั้งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน
       ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มพูนศักยภาพ การบริหารทรัพยากรมนุษย์
       ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริหารจัดการรายได้ให้มีการขยายผลอย่างเพิ่มพูน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น